MLA เจาะลึกเทรนด์ฟู้ดเซอร์วิสโลกในปี 2025 ชี้ศักยภาพเนื้อวัวออสเตรเลียวัตถุดิบหลักที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเมนูสร้างสรรค์
องค์กรดำเนินงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมเนื้อแดงและปศุสัตว์ประเทศออสเตรเลีย (Meat and Livestock Australia: MLA) เชิญเหล่าเชฟ ผู้ประกอบการด้านอาหาร ธุรกิจร้านอาหาร และผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยเข้าร่วมงาน Aussie Meat Academy - Foodservice Trends 2025 with Australian Beef Products Showcase เพื่อตอกย้ำถึงคุณภาพ ความหลากหลาย และระบบการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อแดงและปศุสัตว์ที่ดำเนินงานบนบริบทความยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่อุตสาหกรรมด้านฟู้ดเซอร์วิสได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนเปิดเวทีรวมเหล่ากูรูด้านธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสและอาหารระดับแถวหน้าของไทยร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหาร การบริหารต้นทุนอาหาร และแนวทางลดของเสียจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยภายในงานมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย ที่นำเสนอเมนูสุดสร้างสรรค์ที่ใช้เนื้อวัวออสเตรเลียเป็นวัตถุดิบหลัก
โดยภายในงานนี้ นอกจากจะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมฟู้ดเซอร์วิสมารวมไว้อย่างคับคั่งเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่มากคุณค่าแล้ว ยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการจัดการต้นทุนอาหารในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายดังเช่นปัจจุบัน รวมถึงกลยุทธ์การบริหารเมนู และการควบคุมปริมาณเสิร์ฟเพื่อเพิ่มผลกำไร และที่สำคัญคือเทคนิคและกระบวนการการลดของเสียภายในครัวของโรงแรมและร้านอาหารผ่านการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของเนื้อวัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแนวทางการพัฒนาเมนูที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาโดยวิทยากรรับเชิญจากภาคอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อ ผู้บริหารซัพพลายเชน เชฟจากโรงแรมและร้านอาหารรวมถึงผู้แทนจาก Investment NSW และ MLA ซึ่งจะร่วมพูดคุยถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมบริการด้านอาหารที่เนื้อวัวออสเตรเลียสามารถตอบโจทย์ได้ นำโดย มร.สเปนเซอร์ วิตเทกเกอร์ ผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาตลาดประจาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ MLA (Mr. Spencer Whitaker-MLA's Market Development Manager for the Asia-Pacific region), มร.โยนาธาน วีจายา ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุน Investment NSW Indonesia (Mr. Yonathan Wijaya, Trade and Investment Director, Investment NSW Indonesia), ปิยะ ดั่นคุ้ม CEO ของ Salad Factory และสมาชิกAussie Beef Mates 2024, เชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย และธนพงศ์ วงศ์ชินศรี (ต่อเพนกวิน)
โดยช่วงท้ายของการจัดงานได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สอบถามกับวิทยากร รวมถึงรับฟังมุมมองของเชฟเอียน เกี่ยวกับอนาคตและโอกาสของเนื้อแดงในอุตสาหกรรมฟู้ดเซอร์วิส โดยเฉพาะบทบาทของเนื้อวัวออสเตรเลียในการสนับสนุนความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารโลกและในประเทศไทย
ในฐานะที่ Meat & Livestock Australia (MLA) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของออสเตรเลีย MLA ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมแนวทางการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น Carbon Neutral 2030 (CN30) ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และ Environmental Credentials Platform ซึ่งเป็นระบบติดตามและรับรองผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างมาตรฐานด้านความยั่งยืน โดย MLA ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการวิจัย พัฒนา และการนำความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อนำเสนอโซลูชันให้กับอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการผลิตเนื้อแดงอย่างมุ่งมั่น การวิจัยและวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องช่วยให้มั่นใจได้ว่าทุกภาคส่วนของห่วงโซ่อุปทานจะดำเนินไปอย่างยั่งยืน ครอบคลุมถึงดิน สภาพแวดล้อมธรรมชาติ แหล่งน้ำที่มีคุณภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและต้นทุนทางธรรมชาติ เพื่อช่วยลดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และลดของเสียจากกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ