แชร์

StemCell คืออะไร ทำไมถึงเป็นแนวทางการดูแลรักษาแห่งอนาคต

อัพเดทล่าสุด: 7 ธ.ค. 2024
47 ผู้เข้าชม

สเต็มเซลล์ (Stem Cell) คือ เซลล์ต้นกำเนิดที่มีความสามารถแบ่งตัวได้อยู่เสมออย่างไม่จำกัด โดยสามารถพัฒนาเป็นเซลล์อื่น ๆ ได้ เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์เม็ดเลือด เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เซลล์กระดูก และเซลล์ไขมันได้ตามแหล่งต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อมาทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพ หรือถูกทำลาย เนื่องจากสเต็มเซลล์นั้นมีกลไกที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้พัฒนาเป็นเซลล์ต่าง ๆ เพื่อเข้าไปทดแทนที่เซลล์ที่สูญเสียไปให้กลับมาทำหน้าที่ภายในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลายคนคงมีความคิดว่าเซลล์ต้นกำเนิดจะต้องนำมาจากเซลล์ตัวอ่อนเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากในร่างกายคนเราก็สามารถพบเซลล์ต้นกำเนิดได้เช่นกัน โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งแหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิดได้ 3 แหล่งคือ จากเซลล์ตัวอ่อน ระยะ เอ็มบริโอ ขณะอยู่ในครรภ์ (embryonic stem cell), จากเซลล์ทารก ระยะ ฟีตัส ขณะอยู่ในครรภ์ (fetal stem cell) และจากเซลล์ของอวัยวะในร่างกายของเรา (adult stem cell)

ซึ่งในร่างกายของเรามีเซลล์ต้นกำเนิดอยู่ภายในไขกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นต่าง ๆ เช่น เซลล์ไขมัน สมอง และกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถนำมาเพาะเลี้ยงเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อใช้งานได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการศึกษาทดลองอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความยากในการเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดให้มีชีวิตรอดนั้นจำเป็นต้องอาศัย สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องดูแลอย่างเข้มงวดทุกกระบวนการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิทธิมนุษยชน และจริยธรรมทางการวิจัยมากำกับควบคุมอีกด้วย

จากต้นกำเนิด Stem Cell จนถึงภาพรวมในปัจจุบัน
โดยเซลล์ต้นกำเนิดถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1981

โดย Martin John Evans นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด จากเซลล์ตัวอ่อนของหนูได้เป็นผลสำเร็จ ต่อจากนั้นจึงประสบความสำเร็จในการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดในครั้งแรกในคนเมื่อ ปีค.ศ.1998 โดยใช้เซลล์ของตัวอ่อนของคนที่อยู่ในระยะบลาสโตซีสต์ หรือ blastocysts คือตัวอ่อนของคนที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ประมาณ 5 วัน หลังจากนั้นไม่นานโลกก็ได้พบจุดเปลี่ยนในวงการวิทยาศาสตร์ จากการโคลนนิ่ง (cloning) สัตว์ทดลองตัวแรกสำเร็จ ที่สถาบัน Roslin เมือง Edinburgh ประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลกในนามของ แกะดอลลี่ นั่นเอง หลังจากนั้นการศึกษาเกี่ยวกับ เซลล์ต้นกำเนิด ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยความซับซ้อนของเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ ทำให้การพัฒนายังไม่ได้ผลก้าวหน้าอย่างที่คาดไว้

ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ เช่น เทคโนโลยี่ที่ตั้งโปรแกรมให้กับเซลล์ต้นกำเนิดของอวัยวะในร่างกายที่โตเต็มที่ (adult stem cell) ให้กลับมาทำหน้าที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดเริ่มแรกอีกครั้ง (Reprogramming) หรือเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายนิวเคลียส (Nuclear transfer) หรือโคลนนิ่ง (cloning) เพื่อที่จะได้ใช้เซลล์ของผู้ป่วยเองมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย หรือการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดให้กลายเป็นอวัยวะก่อน แล้วจึงนำไปปลูกถ่ายคืนในตัวผู้ป่วย (tissue engineering) และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังรอการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป แต่เนื่องจากจำนวนอวัยวะจากผู้บริจาคนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงให้เป็นอวัยวะที่ต้องการ (organ-level tissue engineering) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการค้นคว้าในห้องทดลอง เพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยได้จริงในอนาคต

ในปัจจุบันเซลล์ต้นกำเนิดถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ใน 3 รูปแบบดังนี้

- นำเซลล์ต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงเป็นอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อก่อน แล้วจึงนำกลับมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย (Organ/Tissues Transplantation) เช่น การนำเซลล์ต้นกำเนิดมาเพาะเลี้ยงเป็นเส้นประสาทแล้วค่อยปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease)

- การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคโดยตรง (Cell-based approach) เช่น การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปที่กล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วยโดยตรง หรือฉีดเข้ากระแสเลือด เพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจ

- การฉีด สารกระตุ้นเพื่อให้ เซลล์ต้นกำเนิดที่มีอยู่เดิมในร่างกายทำงานมากขึ้น (Endogenous stem cell) เช่น การฉีดฮอร์โมน Erythropoietin เข้าไปใน ร่างกาย เพื่อกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ในไขกระดูก ให้เปลี่ยนเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจาง

ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดสามารถนำมารักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือด และอื่น ๆ ได้มากกว่า 85 โรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดทุกชนิด อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซิเมีย ความผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคจากความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดแดง โรคจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร เป็นต้น ส่วนการให้การยอบรับ หรือมีการอนุญาตในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่าง ๆ ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับทางการแพทย์ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความสำเร็จในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยในการนำเซลล์ต้นกำเนิดมารักษาโรคต่าง ๆ ในมนุษย์


ทั่วโลกยังคงตื่นตัว อุตสาหกรรม Stem Cell ยังคงเติบโต

ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญ และตื่นตัวกับการจัดเก็บ และใช้เสต็มเซลล์ โดยข้อมูลจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ระบุว่าในปี 2559 ตลาดสเต็มเซลล์มีมูลค่าราว 6,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 15,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 9.2% สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดดังกล่าวมีการเติบโต ได้แก่การขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อให้สามารถนำผลการทดลองทางคลินิกไปพัฒนาการรักษาโรคต่าง ๆ การค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสเต็มเซลล์จากมนุษย์ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการผลิตสเต็มเซลล์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบศักยภาพในการจัดการโรค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเวชศาสตร์ฟื้นฟู และส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ในอนาคต

Stem Cell ในประเทศไทย กับความหวังใหม่ของวงการแพทย์

ประเทศไทยได้เริ่มมีแนวคิดจัดตั้งโครงการจัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์จากประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี 2542 เพื่อจัดหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แต่ไม่มีญาติพี่น้องที่มี HLA ตรงกัน โดยการบริจาคนี้จะเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่มีการซื้อขาย โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2545 แพทยสภาประกาศข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ในราชกิจจานุเบกษา และกำหนดให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วยโดยจัดตั้ง Thai National Stem Cell Donor Registry (TSCDR) ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากขึ้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Stem Cell หลักที่ดูแลอยู่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ.2565 ในประกาศฉบับนี้ไม่ใช่แค่ Stem Cell แต่ยังรวมถึงเซลล์ใดก็ตามที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์ โดยขณะนี้มีโรคเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ โรคเลือด และโรคทางดวงตา

Stem Cell เป็นทั้งทางเลือก และความหวังในการดูแลรักษาสุขภาพแห่งอนาคต

ความก้าวหน้าทางงานวิจัยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะเป็นตัวแปร และแรงผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ทั่วโลกได้รับการยอบรับในการทางแพทย์ที่กว้างขวางขึ้นในอนาคต ส่วนสถานการณ์ของสเต็มเซลล์ในประเทศไทยนั้นจะเดินหน้า หรือมีทิศทางอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงทางการแพทย์ นักวิจัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านสเต็มเซลล์ในทุกภาคส่วนจะต้องกำหนดบทบาท และความร่วมมือในการศึกษา พัฒนางานวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้สเต็มเซลล์ในประเทศไทยจะกลายเป็น ความจริงในปัจจุบัน ไม่ใช้เพียง ความหวังในอนาคตอีกต่อไป


บทความที่เกี่ยวข้อง
นาโนเทค สวทช.-สภาเภสัชกรรม-สปสช. ร่วมนำร่องผลักดันชุดตรวจคัดกรองโรคไตในร้านยา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมมือผลักดัน ชุดตรวจคัดกรองโรคไต ที่พัฒนาและผลิตในไทยเข้าสู่ระบบ สปสช. ผ่านร้านขายยาในโครงการ
19 ธ.ค. 2024
BMHH  พร้อมเปิดนวัตกรรมทางเลือกใหม่ dTMS รักษาโรคซึมเศร้า
BMHH เปิดนวัตกรรมการรักษาโรคซึมเศร้าล่าสุดด้วย dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation ที่ศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร (Comprehensive Depression Center) ให้บริการที่ครอบคลุมทุกมิติ
4 พ.ย. 2024
เครือ รพ.พญาไท-เปาโล เปิดตัวแคมเปญ Value Healthcare มุ่งเน้นคุณค่าการรักษา ที่คุณเลือกได้ ตอบโจทย์ผู้ป่วยแต่ละราย ภายใต้มาตรฐานและความปลอดภัย
เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล เดินหน้าปฏิวัติวงการแพทย์ ด้วยการส่งมอบการดูแลสุขภาพ ภายใต้แนวคิด Value Healthcare คุณค่าการรักษาที่คุณเลือกได้
27 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy