แชร์

สำนักงาน คปภ. พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยแก่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้

อัพเดทล่าสุด: 4 ธ.ค. 2024
68 ผู้เข้าชม

จากกรณีพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้ประสบอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน รถยนต์ และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงได้บูรณาการร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่

โดยเบื้องต้นได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) ว่า 1. พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน คปภ.จังหวัดยะลา ได้รับผลกระทบ 8 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 32,830 ครัวเรือน จำนวน 131,685 คน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย จากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลการทำประกันภัย บ้านเรือน 71 หลังและอาคารสำนักงานเทศบาลเบตง 1 แห่ง ได้รับความเสียหายอยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประกันภัย ในส่วนของรถยนต์ได้รับความเสียหาย 420 คัน ตรวจสอบพบทำประกันภัย 215 คัน ความเสียหายประมาณ 35,275,000 บาท และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 490 ไร่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประกันภัยกับสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา 

2. พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน คปภ.จังหวัดปัตตานี ได้รับผลกระทบ 12 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 147,002  ครัวเรือน จำนวน 428,223 คน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบข้อมูลการทำประกันภัย บ้านเรือนจำนวน 216 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 71,721 ไร่ ด้านการประมง จำนวน 238 ราย ความเสียหายประมาณ 26,897,000 บาท  ด้านปศุสัตว์ 362,203 ตัว ในส่วนของรถยนต์ได้รับความเสียหาย 33 คัน มีประกันภัยกับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3 คัน และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 30 คัน 

3. พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน คปภ. จังหวัดนราธิวาส ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ จำนวน 94,189 ครัวเรือน 343,154 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบข้อมูลการทำประกันภัย ในส่วนของรถยนต์ได้รับความเสียหาย 3 คัน อยู่ระหว่างการตรวจสอบการทำประกันภัย บ้านเรือน จำนวน 19 หลัง พื้นที่เกษตรเสียหาย 3,726 ไร่ ปศุสัตว์ 60,432 ราย 

4. พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน คปภ.จังหวัดสงขลา ได้รับผลกระทบ 16 อำเภอ จำนวน 212,727 ครัวเรือน 542,827 คน บ้านเรือนเสียหาย 1,594 หลัง พื้นที่การเกษตร 10,818 ไร่ บ่อปลา 1,751 บ่อ มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 1 ราย บาดเจ็บ 10 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นมีการทำประกันภัยอุบัติเหตุ จำนวน 1 ราย ทุนประกันภัยจำนวน 100,000 บาท มีรถยนต์ที่ได้รับแจ้งความเสียหายจากบริษัทประกันภัย จำนวน 433 คัน 

สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่สำนักงาน คปภ. จังหวัด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือด้านการประกันภัยที่ประสบภัยน้ำท่วม เช่น บ้านเรือน รถยนต์ การประกันชีวิต การประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นต้น รวมทั้งดูแลป้องกันทรัพย์สินของสำนักงานไม่ให้ได้รับความเสียหายด้วย นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ภาคและจังหวัดได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย (สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินจังหวัด) ลงพื้นที่บริจาคเครื่องอุปโภค-บริโภคให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันภัยอัคคีภัย ความคุ้มครองเกี่ยวกับภัยน้ำท่วม และการทำประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้กับทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน ตลอดจนติดต่อประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านช่องทางเพจ เฟซบุ๊ก ไลน์ ให้ประชาชนทราบในเบื้องต้นแล้ว    

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ขอให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้ว่าให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วม ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยทุเรียน รวมถึงการทำประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอาคารมีทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับตามที่กฎหมายกำหนด 

ในส่วนของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป และ ระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคันซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเรื่องประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) 0-7425-2105 ต่อ 106 E-mail : Region09@oic.or.th


บทความที่เกี่ยวข้อง
เคพีไอ เปิดตัวสโลแกนใหม่ “Your Trust, Our Care” สื่อสารแบรนด์ผ่านคาแรคเตอร์ “Baby CARE Boy”
เคพีไอ ประกาศเปิดตัวสโลแกน Your Trust, Our Care -ดูแลทุกความไว้ใจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรที่จะพัฒนาการทำงาน ผลิตภัณฑ์และบริการให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนลูกค้าให้สมกับความไว้วางใจที่มีให้เราเสมอมา
23 ธ.ค. 2024
กรุงเทพประกันชีวิต ตอกย้ำความเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน  คว้ารางวัลระดับเอเชีย Sustainability Rising Star  จากเวที ACES Awards 2024
กรุงเทพประกันชีวิต คว้ารางวัลระดับเอเชีย Sustainability Rising Star จากเวที Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards 2024 หรือ ACES Awards 2024
14 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy